รถยนต์เมื่อติดเครื่องยนต์ใหม่ๆ อุณหภูมิของเครื่องยนต์ต่ำ แคตเทอร์ไลท์ติก คอนเวอร์เตอร์ ย่อมมีอุณหภูมิที่ต่ำด้วย แต่เมื่อตัวมันร้อนแล้ว จะมากกว่าตัวเครื่องยนต์หลายเท่าตัว ดังนั้น เมื่อเราใช้รถยนต์ไปได้สักพักหนึ่ง แน่นอนที่สุด แคตเทอร์ไลท์ติก คอนเวอร์เตอร์ ก็จะร้อนได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่จะกล่าวถึงนั้น ถ้าจอดรถยนต์อยู่บนทางปกติทั่วไป หมายความว่า บนพื้นซีเมนต์หรือลาดยาง ก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจอดรถอยู่บนต้นหญ้าที่แห้ง, ใบไม้ใบหญ้าที่แห้ง พร้อมกับการติดเครื่องยนต์ไว้ อุณหภูมิบริเวณแคตเทอร์ไลท์ติก คอนเวอร์เตอร์ ใต้ท้องรถจะมีสูง จะทำให้มีการติดไฟได้เหมือนกับการที่เราติดเตาถ่านแล้วเอากระดาษวางลงไป จะเห็นได้ว่า มีการติดไฟเกิดขึ้น เมื่อเป็นดังนี้ถ้ามีการจอดรถบนพื้นหญ้าแห้งควรหลีกเลี่ยง ถึงแม้จะไม่เคยเกิดขึ้นหรือเป็นข่าวขึ้นมาก็ตาม
ลองนึกภาพ หากมีการติดไฟเกิดขึ้นใต้ท้องรถ แล้วใต้ท้องรถมีถังน้ำมันเชื้อเพลิง อะไรจะเกิดขึ้น (ระเบิดดีๆนี่เอง) ก็จริงอยู่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลักษณะนี้ ยังไม่มีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดใช่ไหมครับ กรณีที่มีข่าวว่า รถยนต์ตกข้างทางแล้วไฟไม่ลุกท่วม คนขับเสียชีวิตก็อาจเป็นไปได้ว่า มีการรั่วของน้ำมันเชื้อเพลิง มาปะทะกับความร้อน ไม่ว่าจะบริเวณใดหรือแคตเทอร์ไลท์ติก คอนเวอร์เตอร์ ทำให้เกิดการลุกไหม้ก็ตาม เพียงแต่การพิสูจน์ไม่สามารถกระทำได้แค่นั้นเอง
เรียนผู้ใช้รถยนต์ทุกท่าน รถยนต์รุ่นใดที่มีแคตเทอร์ไลท์ติก คอนเวอร์เตอร์ ควรที่จะต้องมีความระมัดระวังตามที่ได้กล่าวมา ยิ่งรถที่เป็นเครื่องยนต์เบนซินต้องระมัดระวังมากกว่าเครื่องยนต์ดีเซลมีคำถามว่าแล้วขณะที่รถวิ่งเป็นอย่างไร ขณะที่รถวิ่งนั้น ความร้อนสะสมตรงบริเวณจะแคตเทอร์ไลท์ติก คอนเวอร์เตอร์ มีน้อยจะถูกระบายความร้อนขณะรถวิ่งออกไปทางด้านท้ายรถ ทำให้มีความร้อนน้อยกว่ารถจอด
จริงอยู่เมืองไทยเมืองร้อน การจอดรถติดเครื่องแล้วเปิดแอร์มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ถึงแม้จะมีการรณรงค์อย่างมากก็ตาม ที่ว่า “จอดรถควรดับเครื่องยนต์” ก็มีผู้กระทำตามไม่มากนัก ดังหัวข้อเรื่อง ทางผู้เขียนมีเจตนาให้ผู้ใช้รถมีความปลอดภัย มนุษย์เรานี้ก็แปลกถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะไม่ค่อยยอมรับสักเท่าไหร่ ดังนั้น ตามที่เขียนมาขอฝากไว้นะครับ ท้ายนี้ ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน ที่ได้ติดตามผลงานของเราตลอดมาครับ
แก้ไขโดย : เดอะ เทรนนิ่ง โปร เลิร์นนิ่ง แอนด์ สกิล“The Training Pro Learning and Skills”
ขอบคุณที่มา :ห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สิน / แผนกเทคนิค และ ฝึกอบรม / บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด (กรุงเทพฯ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น